ส่วนมากเราจะเห็นแต่บทความที่พูดถึงข้อดีของฟิลเลอร์ แต่การฉีดฟิลเลอร์นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน ตามมาดูกันว่าความเสี่ยงของการฉีดฟิลเลอร์มีอะไรบ้างที่ต้องรู้ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเข้ารับการรักษาปัญหาในจุดต่างๆด้วยการฉีดฟิลเลอร์
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ภาวะนี้เรียกว่า Central retinal artery occlusion (CRAO) เกิดจากการที่ฟิลเลอร์ หรือไขมันที่ฉีดเข้านั้น ไปอุดตันเส้นเลือดที่เลี้ยงลูกตา ทำให้ดวงตาขาดเลือด ส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนไปและเกิดอาการตาบอด
ประเภทของฟิลเลอร์
ฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็มแบ่งง่ายๆออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ
1. Temporary filler (แบบชั่วคราว) อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน – 2 ปี สามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยสูง เป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น ฟิลเลอร์กลุ่ม ไฮยารูรอนิกแอซิด Hyaluronic Acid หรือ HA
2. Semi Permanent Filler (แบบกึ่งถาวร) สามารถอยู่ได้นานประมาณ 2-5 ปี ยาวนานกว่าแบบแรก มีความปลอดภัยรองลงมาจากแบบแรก เช่น แคลเซียมฟิลเลอร์ ที่มีส่วนผสมของแคลเซียม ไฮดรอกซิลอะพาไทต์ (Hydroxyapatite)
3. Permanent Filler (แบบถาวร) เป็นสารเติมเต็มพวก ซิลิโคน หรือ พาราฟิน หลังฉีดไปแล้วผิวจะไม่สามารถดูดซึมฟิลเลอร์ชนิดนี้ได้ ทำให้ค้างอยู่ในชั้นผิวของเรา โดยไม่สามารถสลายไปตามธรรมชาติ มีผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น ฟิลเลอร์ไหล ฟิลเลอร์ย้อย ย้วยผิดรูปนั้นเอง ซึ่งไม่แนะนำให้ฉีดสารเติมเต็มชนิดอย่างมาก
ฉีดฟิลเลอร์ ทำไมถึงตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เนื่องมาจากใบหน้าเรานั้นมีเส้นเลือดมากมาย และมีการเชื่อมต่อกันเป็นร่างแห โดยมีทั้งเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำ แต่ตัวที่ฉีดโดนแล้วมีปัญหาก็คือ เส้นเลือดแดง เพราะเป็นเส้นเลือดที่มีแรงดันมาจากการเต้นของหัวใจ และมีหน้าที่นำเลือดดีไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆบนใบหน้า
เวลามีก้อนอะไรก็ตามเข้าไปในเส้นเลือดแดง เช่น ฟิลเลอร์ หรือ ก้อนไขมัน ก็จะทำให้เกิดการอุดตัน การไหลเวียนของเลือดผิดปกติและขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้อวัยวะนั้นตายไปในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น มีก้อนไปอุดที่เส้นเลือดที่บริเวณจมูก ก็ทำให้เนื้อเยื่อจมูกบริเวณนั้นเน่าตาย ถ้าไปอุดที่เส้นเลือดบริเวณตา ก็ทำให้ตาบอด ซึ่งตาบอดนั้นถือเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด และโอกาสดีขึ้นน้อยมาก
จะเรียกภาวะนี้ว่า Central retinal artery occlusion (CRAO) ซึ่งภาวะนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่จะดีขึ้นนั้นน้อยมาก และถือเป็นภาวะเร่งด่วนทางตา เนื่องจากต้องรีบรักษาภายใน 90 นาทีหลังจากมีการอุดตัน เพราะถ้านานกว่านั้น เซลล์จอประสาทตาจะตายแบบถาวร ซึ่งการรักษาสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งยาฉีด ยากิน ยาหยอด และ การใช้ก๊าซต่างๆ
ฉีดฟิลเลอร์ตำแหน่งไหนเสี่ยงตาบอด
บริเวณที่เสี่ยงต่อการ ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ก็เป็นบริเวณรอบๆ ดวงตา เช่น หน้าผาก,จมูก, ร่องแก้ม และใต้ตา เนื่องจากว่าเส้นเลือดมันเชื่อมต่อกันหมดเหมือนเป็นร่างแห ดังนั้นฟิลเลอร์ เข้าไปบริเวณไหน ก็มีโอกาสเข้าไปที่ตาทั้งนั้นยิ่งใกล้ตา โอกาสก็ยิ่งสูง โดยเฉพาะการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา โดยจากงานวิจัย พบว่า การฉีดไขมัน มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าการฉีดฟิลเลอร์
สรุป
ก่อนฉีดเติมเต็มด้วยฟิลเลอร์หรือไขมัน ต้องเลือกคลินิกที่พร้อมรับมือ สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ ถึงแม้ว่าโอกาสเกิดจะน้อยมากก็ตาม ทำการรักษาโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกายวิภาคใบหน้า เพื่อลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาด ถึงแม้ฟิลเลอร์ที่ใช้จะเป็นฟิลเลอร์แท้ และ สามารถฉีดสลายได้ การ ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้