สิว เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของรูขุมขนและต่อมไขมัน ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก สิว มีทั้งชนิดหัวดำและหัวขาว โดยมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของ สิว เช่น สิวอุดตัน สิวตุ่มนูนแดง สิวตุ่มหนอง สิวซีสต์ และสิวอักเสบเป็นตุ่มเนื้อลึกใต้ผิวหนัง
บริเวณที่สามารถพบ สิว ได้มากที่สุด คือ ใบหน้า หน้าอก คอ ไหล่ ต้นแขน และหลัง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในเด็กวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าสิวจะขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีอายุประมาณ 20-40 ปี ก็เป็นสิวได้เช่นกัน เนื่องจากในวัยผู้ใหญ่ร่างกายก็ยังผลิตฮอร์โมนเพศออกมา และมีการค้นพบด้วยว่า สิวชนิดรุนแรงนั้นมักเกิดในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิวที่ทำให้มีอาการเจ็บปวด ทั้งยังทิ้งร่องรอยแผลเป็นสิวไว้ด้วย แม้ว่าสิวจะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่ก็ส่งผลกระทบมากพอที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีปมด้อยไปตลอดชีวิตได้
- สาเหตุการเกิดสิว จากเชื้อแบคทีเรีย
- ระดับความรุนแรงของสิว
- หลักการรักษาสิว
- ประเภทของ สิว
- พฤติกรรมผิดๆ ที่คิดว่าช่วยรักษา สิว
สาเหตุการเกิด สิว จากเชื้อแบคทีเรีย
Propionibacterium acnes (P.acnes) จัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิด สิว เนื่องจากแบคทีเรียตัวนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ได้แก่ ใบหน้า แก้ม หน้าอก แผ่นหลัง โดย P.acnes สามารถเจริญเติบโตได้ด้วยความสามารถในการใช้น้ำตาลกลูโคสแบบไม่ต้องใช้ออกซิเจน จึงเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว พบได้มากที่บริเวณจมูก เป็นสาเหตุของการเกิด สิว ที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถทำให้ผิวระคายเคือง อักเสบ บวมแดง เป็นหนอง ที่เรียกกันว่าสิวอักเสบนั่นเอง
ระดับความรุนแรงของ สิว
ระดับ 1 ผิวหนังอาจมี สิวหัวขาว หัวดำ หรือ สิวผดบ้างเล็กน้อยไม่จำเป้นต้องมีการอักเสบ สามารถรักษาเองได้ ส่วนมากเกิดที่บริเวณจมูกและหน้าผาก
ระดับ 2 เรียกว่าสิวรุนแรงปานกลาง โดยจะมีสิวอุดตัน จำนวนมากที่เกิดขึ้นเป็นประจำ บ่อยๆที่เดิมซ้ำๆ และมีสิวตุ่มแดง สิวหัวนูนๆ ร่วมด้วย ทำให้สัมผัสได้ลำบาก สามารถรักษาเองได้ แต่หากได้รับคำแนะนำจากแพทย์จะช่วยให้การรักษาเห็นผลลัธ์ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ระดับ 3 จะมีสิวอักเสบติดเชื้อมากๆ จนกินพื้นที่ส่วนใหญ่บนใบหน้า ทั้ง สิวตุ่มแดง สิวหัวนูน สิวหัวดำ สิวหัวขาว ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะอาจจะรุนแรงจนเกิดเป็นภาวะถุงซีสต์ได้
ระดับ 4 เป็นระดับที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะมีทั้งสิวตุ่มนูน ซีสต์ สิวตุ่มแดง สิวหนอง เรียงกันจนไม่มีพื้นที่ว่างบนใบหน้า บางทีไม่ได้เกิดแค่บริเวณใบหน้า แต่ลามไปถึง คอ หน้าอก แผ่นหลัง บั้นท้าย ซึ่งรักษายากและใช้เวลานาน
หลักการรักษา สิว
การรักษา สิว จะต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิด สิว และจะต้องแยกชนิดของ สิว ระดับความรุนแรงของ สิว และการใช้ยาอย่างถูกต้อง การรักษา สิว จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 6 สัปดาห์จึงจะบอกว่าเห็นผลหรือไม่
โดยยารักษา สิว จะออกฤทธิ์ ในการลดการอุดตันของต่อมไขมันที่รูขุมขน เช่นยา tretinoin ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดฮอร์โมน
การรักษา สิว แบบทั่วไป สามารถรักษาได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
• รักษา สิว อุดตัน ด้วยตนเองวิธีแรก คือ อย่าปล่อยให้ผิวหน้าสกปรกเป็นเวลานานๆ
• เลี่ยงการเช็ดหน้าหรือนวดหน้าแรงจนเกินไป
• อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้ากดทับบริเวณที่ สิว อักเสบ
• ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งตามปกติ และใช้ผ้าซับเบาๆไม่จำเป็นต้องล้างบ่อย เพราะ สิว ไม่ได้เกิดจากความสกปรก แต่สำหรับในคนที่หน้ามันมาก อาจล้างเพิ่มระหว่างวันด้วยน้ำเปล่า ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของค่า pH บนผิวหน้า ยกเว้น ช่วงที่เสร็จจากการออกกำลังกาย หรือช่วงที่คิดว่าหน้าเราสกปรกมากจริงๆ
• เวลาล้างหน้าไม่ควรถูใบหน้าแรงๆ เพราะอาจทำให้ สิว เกิดการอักเสบได้
• หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้หน้าชื้น เช่น sauna การทำงานในครัว และสถานที่ที่มีมลพิษมากๆ
• งดใช้เครื่องสำอางที่ทำให้เกิด สิว เครื่องสำอางที่เพิ่มความมัน หรือเลือกเครื่องสำอางที่ไม่ถูกกับผิวหน้า
• ห้ามบีบหรือแกะ สิว โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ สิว เกิดการลุกลาม
• ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มัน และหวาน เพราะอาหารเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิด สิว
• การเลือกยาทา สิว ควรจะปรึกษาแพทย์
ประเภทของ สิว
สิวหัวดำ (Blackheads)
สิวหัวดำ เป็นสิวอุดตันที่มีลักษณะตุ่มนูน เห็นเป็นจุดสีดำ ๆ โดยสาเหตุที่เป็นจุดสีดำนั้นเกิดจากน้ำมันบนใบหน้า ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ เปลี่ยนไขมันให้เป็นสีดำ จะพบมากบนบริเวณทีโซน ได้แก่ หน้าผาก จมูก และคาง
สิวหัวขาว (Whiteheads)
สิวหัวขาว เป็นสิวอุดตันที่หัวปิดอยู่ มีลักษณะเป็นตุ่มนูน เมื่อสัมผัสที่บริเวณสิวหิวข้าวจะมีลักษณะเหมือนไตก้อนเล็ก ๆ สามารถเกิดได้จากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เครื่องสำอาง รวมไปถึงสกินแคร์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน ซึ่งสิวแบบนี้สามารถพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบได้
สิวเสี้ยน/สิวอุดตัน (Comedone)
สิวเสี้ยน เป็นเสี้ยนเล็ก ๆ ตามรูขุมขน เกิดจากการสะสมของชั้นขี้ไคลร่วมกับขนอ่อนในรูขุมขนนั้น ทำให้เกิดเป็นสิวเสี้ยนสีขาว ๆ สามารถเกิดได้ตามบริเวณทีมีรูขุมขนขนาดใหญ่ เช่น จมูก คาง หน้าผาก ระหว่างคิ้ว แผ่นหลัง ต้นแขน ต้นขา เป็นต้น
สิวที่มีตุ่มนูนแดง (Papule)
สิวที่มีตุ่มนูนแดง เป็นสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก ไม่มีหัวสิว สิวชนิดนี้เกิดจากแบคทีเรียที่ไปอุดตันรูขุมขน ทำให้ร่างกายของเราจึงสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับแบคทีเรียนี้ เมื่อทั้งสองอย่างมาเจอกันก็จะทำให้เกิดตุ่มสิวนูนแดง ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยสามารถพัฒนาเป็นสิวอักเสบได้
สิวอักเสบ (Nodular Acne)
สิวอักเสบ สาเหตุเกิดจากมีแบคทีเรียเข้าไปอยู่ในรูขุมขน บวกกับความมันบนผิว ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง มีลักษณะตุ่มสีแดง ไม่มีหัวสิว ขนาดใหญ่ เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกเจ็บ โดยสิวอักเสบอาจจะอยู่ได้นานหลายวัน และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
สิวหัวช้าง (Cystic Acne)
สิวหัวช้าง เกิดจากสิวตุ่มแดงขนาดเล็กที่ปล่อยไว้บนใบหน้า แล้วเริ่มขยายเป็นก้อนใหญ่ รูปร่างคล้ายซีสต์ และมีหนอง เกิดขึ้นเมื่อมีการอักเสบอย่างรุนแรงบนผิว หากสัมผัสจะทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก เป็นสิวที่มีความรุนแรงมากที่สุด
พฤติกรรมผิดๆ ที่คิดว่าช่วยรักษา สิว
บีบสิวเพื่อนำหัวสิวออก : หลายคนคิดว่าการบีบหัวสิวออกจะช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น แต่ที่จริงแล้วเป็นการทำร้ายผิวหน้าต่างหาก เพราะว่าจะทำให้ผิวบริเวณที่บีบ เกิดอาการบวมและอักเสบ อีกทั้งยังทำให้แบคทีเรียในสิวกระจายเข้าไปในรูขุมขนอื่นๆ และเกิดเป็นสิวใหม่ตามมา และยังทำให้สิวหายช้าลง เพราะแบคทีเรียในสิวถูกดันลึกเข้าไปในรูขุมขนเพิ่มแบคทีเรียตัวใหม่จากมือของเรา อีกทั้งยังทิ้งรอยแผลเป็นไว้อีกด้วย
ล้างหน้าและสครับหน้าถี่จนเกินไป : การล้างหน้าและการสครับหน้า เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพราะจะช่วยผลัดเซลล์ผิวและขจัดสิ่งสกปรกออกจากใบหน้าได้ แต่ถ้าทำบ่อยจนเกินไปก็อาจจะเป็นการทำร้ายผิวหน้าเป็นได้ เนื่องจากการล้างหน้าและการสครับหน้าที่มากไปจะทำให้ผิวแห้งระคายเคือง ยิ่งระคายเคืองสิวก็ยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป เป็นอีกสาเหตุให้รูขุมขนอุดตัน
เปลี่ยนยารักษาสิวบ่อย : ยารักษาสิวทุกตัวต้องใช้อย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล การปลี่ยนยารักษาสิวบ่อย ๆ เพราะร้อนใจไม่เห็นผลการรักษาในทันที พฤติกรรมแบบนี้นอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อการรักษาสิวแล้ว แถมยังจะสร้างปัญหาในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เช่น อาการดื้อยา
ยารักษาสิวตัวเดียวกับทุกปัญหาสิว : ยารักษาสิวแต่ละตัวมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถรักษาสิวทุกอย่างได้ ยาบางตัวอาจเหมาะสำหรับรักษาสิวอักเสบ บางตัวอาจเหมาะสำหรับสิวอุดตัน เราต้องเลือกใช้ยาให้เหมาะกับแต่ละอาการ และต้องใช้ยาร่วมกันตัวอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาที่ดีที่สุด
เลิกใช้ยาทันทีเมื่ออาการดีขึ้น : เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว เราไม่ควรหยุดใช้ยารักษาสิวทันที ควรใช้ยารักษาสิวต่อไปเรื่อยๆ แต่ลดปริมาณลงจากเดิม เช่น จากตอนแรกถ้าเราทายาวันละ 2 ครั้ง อาจจะลดเหลือมาเป็น 1 ครั้งต่อวัน จนกว่าสิวจะหายสนิท
สรุป
สิว เป็นภาวะทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากต่อมน้ำมันใต้ผิวผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปจนทำให้เกิดการอุดตันของสิ่งสกปรก เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย P. Acne จนทำให้เกิดตุ่มเล็กๆ ขึ้น สิว สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากที่สุดในวัยรุ่นชาย