ศัลยกรรมปลูกผม
ผมร่วง ผมบาง หรือ ศีรษะล้าน เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ใจอย่างมาก เกิดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่คนส่วนมากมักเข้าใจว่า ปัญหาศีรษะล้านนั้นเกิดเฉพาะกับเพศชาย ไม่ได้เกิดเฉพาะในคนที่มีอายุมาก ในคนหนุ่มสาวที่อายุน้อยก็สามารถเกิดได้เช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวัยไหน อายุเท่าใด ก็สร้างความกังวลใจ ที่บั่นทอนความมั่นใจให้อย่างยิ่ง.
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับศัลยกรรมปลูกผม
- ปลูกผม คืออะไร
- สาเหตุ ของปัญหาศรีษะล้าน
- การรักษาศรีษะล้าน
- การปลูกถ่ายเซลล์รากผม
- การปลูกผมช่วยไม่ให้ศรีษะล้านได้จริงหรือ ?
- ผ่าตัดปลูกผม อันตรายหรือไม่ ?
- ปลูกผมมีอาการแทรกซ้อนไหม ?
- หลังทำศัลยกรรมปลูกผม จะมีผมร่วงก่อนจริงหรือไม่ ?
- สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนการทำศัลยกรรมปลูกผม
- การเตรียมตัวก่อนการทำศัลยกรรมปลูกผม
- การปฏิบัติตัวหลังการทำศัลยกรรมปลูกผม
ปลูกผม คืออะไร
วิธีการแก้ไข ปัญหาผมร่วง ผมบาง ศรีษะล้าน ด้วยการศัลยกรรมปลูกผม เพื่อให้ผมกลับมาดกหนา โดยเทคนิคที่นิยมใช้ปลูกผมในปัจจุบัน คือ การปลูกผมแบบถาวร ปลูกผมถาวรจะมีกันอยู่สองแบบ นั่นก็คือวิธี FUE และ FUT โดยทั้งสองแบบจะมีจุดประสงค์เพื่อย้ายรากผมจากบริเวณเหนือกกหูและท้ายทอยมาปลูกในบริเวณที่ผมบางแทน ซึ่งภายในเวลา 12-18 เดือน เส้นผมก็จะงอกขึ้นใหม่เต็มที่และเป็นธรรมชาติโดยไม่ร่วงอีก เพราะรากผมจากเหนือกกหูและท้ายทอยนั้นมีความแข็งแรงมาก การปลูกผมด้วยวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน
สาเหตุ ของปัญหาศรีษะล้าน
ปัญหาศีรษะล้านในผู้ชายส่วนใหญ่จะเกิดจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ซึ่งถูกเปลี่ยนไปเป็น Dihydrotestosterone (DHT) เนื่องจากยีนศีรษะล้านเป็นยีนเด่น จึงอาจจะมาทางคุณพ่อหรือคุณแม่ก็ได้
อาการผมร่วงจะเริ่มเมื่อพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้วโดยที่ผมด้านหน้า และด้านบนของศีรษะจะเริ่มเป็นเส้นเล็กลงและบางลงจนกระทั่งหลุดไปแล้วไม่ขึ้นมาอีก ทั้งนี้เนื่องจากเซลล์สร้างผม(รากผม)เสื่อมสภาพและตายไป
แต่รากผมบริเวณท้ายทอยและด้านข้างจะไม่ได้ถูกทำลายโดย DHT จึงจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เราจึงสามารถนำมาใช้ในการปลูกผมได้ผลดี สำหรับผู้หญิงรูปแบบของผมบางศีรษะล้านจะต่างไปโดยจะมีผมบางตรงกลางศีรษะเท่านั้นส่วนแนวผมด้านหน้ายังดีอยู่ไม่เว้าเข้าไปเหมือนของผู้ชาย ถึงแม้ส่วนน้อยจะพบว่าบางคนอาจมีศีรษะเถิกได้
ผมร่วงอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ภาวะหลังคลอดบุตร การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายนั้นขาดสารอาหาร การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง โรคผิวหนังบางชนิด โรคจิตประเภทที่ชอบถอนผมตัวเอง มะเร็งรังไข่ที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย แต่สาเหตุดังกล่าว พบได้น้อยกว่า 5 % สาเหตุที่พบมากที่สุด ได้แก่กรรมพันธุ์ ซึ่งพบมากกว่า 95% ของสาเหตุทั้งหมด
การรักษาศรีษะล้าน
วิธีการแก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน บางคนอาจเลือกวิธีที่ง่ายอย่างการสวมวิกผม หรือการทอผม เพื่อปกปิดบริเวณที่ล้าน แต่การสวมวิกผมหรือทอผมนั้นมีข้อเสีย คือ ให้ผลไม่ถาวร และอาจทำให้เป็นโรคผมร่วงได้ ถ้าต้องการแก้ปัญหาแบบให้ผลถาวรควรปรึกษาแพทย์
แต่ก่อนรักษาแพทย์จะต้องซักประวัติผู้ที่เข้ามารับการรักษาทุกราย เพื่อประเมินก่อนว่าปัญหาศีรษะล้านเกิดจากอะไร แม้ว่าส่วนใหญ่ปัญหานี้จะเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่บางกรณีอาจจะเกิดจากมีโรคหรือภาวะอื่นได้
ถ้าประเมินแล้วพบว่า เป็นโรคศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ ก็จะมีวิธีการรักษา 2 แบบ ได้แก่
- การรักษาโดยใช้ยา ยาที่ให้จะเป็นยาลดระดับฮอร์โมนเพศชาย แต่ยานี้จะมีผลข้างเคียงประมาณ 0.7-1% คือ อาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อารมณ์ทางเพศลดลง และในบางรายอาจเกิดอาการนกเขาไม่ขันได้ ในผู้ที่เริ่มมีแนวโน้มจะมีโอกาสเป็นศีรษะล้าน สามารถรับประทานยาป้องกันไว้ก่อนได้ ยิ่งทานเร็วก็ยิ่งดี แต่ต้องทานยาไปตลอดชีวิต เพราะโรคดังกล่าวไม่หาย ถ้าเริ่มรักษาเร็วแพทย์จะแนะนำให้กินยาเพียงอย่างเดียว
- การรักษาโดยการผ่าตัด หมายถึง การปลูกผม ซึ่งช่วยแก้ปัญหาศีรษะล้านอย่างได้ผล สำหรับการปลูกผมนั้นทำได้ 2 แบบ คือ การปลูกผมจริง และการปลูกผมเทียม
การปลูกผมจริง เป็นการย้ายรากผมจากท้ายทอยของผู้ที่มารับการรักษา มาปลูกบริเวณที่ล้าน การย้ายมี 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นการตัดหนังศีรษะออกมาเป็นแผ่นแล้วมาซอยให้ได้ผมเป็นต้นๆ แล้วฝังปลูกลงไปใหม่คล้ายๆ กับการปลูกต้นไม้ อีกแบบคือ การเจาะให้ได้ผมมาทีละช่อ แล้วปลูกเข้าไปใหม่บริเวณที่ล้าน
การปลูกผมเทียม คือ การใช้ผมสังเคราะห์ ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือปฏิกิริยาใดๆต่อร่างกาย และยังมีหลายสีให้เลือกตามความเหมาะสม นิยมกันมากในประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำผมสังเคราะห์มาฝังเข้าไปในหนังศีรษะ แต่ในประเทศไทยไม่นิยมทำวิธีนี้
ผู้ที่ปลูกผมเทียมต้องกลับมาถอนผมออกและปลูกผมใหม่เสริมเรื่อยๆ ผมที่ปลูกใหม่นั้นจึงไม่ใช่ผมถาวรอย่างแท้จริง และข้อเสียอีกประการคือ ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปที่หนังศีรษะทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง
นอกจากนั้น การรักษาศีรษะล้าน ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉายแสงเลเซอร์ที่ความถี่ต่ำเข้าไปที่หนังศีรษะ เพื่อกระตุ้นเส้นผมให้งอกขึ้น เหมาะสำหรับคนที่ศีรษะบริเวณที่จะทำต้องไม่ล้าน แต่ผลที่ได้ไม่ดีมาก
การปลูกถ่ายเซลล์รากผม
การปลูกผมด้วยวิธีผ่าตัดแบบแผง Strip Harvesting [Known as FUT]
เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ใช้มากกว่า 90% โดยตัดหนังศีรษะที่ท้ายทอยเป็นแผงออกมาจากบริเวณท้ายทอย แล้วทำการแยกเฉพาะรากผมที่ต้องการ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ จนได้หน่วยรากผมที่เล็กที่สุดที่สามารถนำไปปลูกได้
Strip Harvesting [Known as FUT]
เมื่อนำรากผมไปปลูกในบริเวณที่ต้องการแล้ว ผมจะเข้าสู่ระยะพัก [Telogen phase] โดยจะปลิดร่วงไปก่อนในระยะเวลา 3 สัปดาห์ รากจะพักไม่ผลิตเส้นผมเป็นเวลาประมาณ 3-4 เดือน แล้วจึงเข้าสู่ระยะเจริญเติบโตใหม่ [Anagen phase] ดังนั้นผู้ที่รับการปลูกถ่ายรากผมจะสังเกตเป็นผมขึ้นหลังจากผ่าตัดประมาณ 3-4 เดือน โดยเมื่อแรกจะขึ้นมาเป็นขนอ่อนๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาเติบโตขึ้นเป็นผมเส้นโตแข็งแรง ทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 10-12 เดือนเพื่อเห็นผลการรักษา วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้มากที่สุด เนื่องจากกราฟท์หรือรากผมที่ได้จะเป็นกราฟท์ที่มีคุณภาพมากที่สุด มีการเสียหายบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยที่สุด เมื่อนำมาปลูกก็จะได้ผลหรือโอกาสรอดของรากผมมากที่สุดเกือบ 100% แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือมีแผลเป็นยาวที่ท้ายทอย ซึ่งบางกรณีถ้าแผลใหญ่มากก็จำเป็นที่จะต้องไว้ผมให้ยาวเพียงพอที่จะปกปิด อีกทั้งยังต้องการการพักฟื้นพอสมควรประมาณ 1 สัปดาห์ จึงได้เกิดการพัฒนาเทคนิกทางเลือกที่ใช้การเจาะเอารากผมขึ้นมาทีละหน่วย ทำให้แผลเป็นน้อยลง พักฟื้นเร็วขึ้น
ขั้นตอนการปลูกผมแบบ FUT
ขั้นตอนที่ 1
แพทย์ทำการวาดแนวผมที่จะทำการปลูก โดยแนวผมดังกล่าวมีการพูดคุย ออกแบบ ร่วมกันกับคนไข้ไว้ก่อนแล้ว
ขั้นตอนที่ 2
ทำการคัดเลือกรากผมที่แข็งแรงบริเวณด้านหลังศีรษะ ผมจะถูกรวบไว้ด้วยเทปกาว ซึ่งหลัง ผ่าตัดผมเหล่านี้จะปกปิดแผลผ่าตัดไว้
ขั้นตอนที่ 3
ผมที่คัดเลือกจะถูกโกนให้สั้น สะดวกต่อการผ่าตัด หนังศีรษะที่จะตัดออกจะถูกวาดไว้ เป็นแนว ฉีดยาชาเฉพาะที่โดยตลอดรอบแนวที่จะตัด
ขั้นตอนที่ 4
หลังยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มผ่าตัดโดยใช้เทคนิคแบบเปิด (Open Technique) โดยใชแ้ว่นขยาย 4 เท่า ทำให้สามารถมองเห็นแนวรากผมได้ อย่างชัดเจน โอกาส สูญเสียรากผมอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น
ขั้นตอนที่ 5
แผลจะถูกเย็บปิดด้วยไหมละลาย และเย็บตรึงห่างๆ ด้วยไหมไม่ละลายอีกชั้น เพื่อให้ แผลปิดสมานกันเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อครบ 7-14 วันแพทย์จะนัดมาตัดไหม
ขั้นตอนที่ 6
หนังศีรษะที่ตัดออกมา นำมาแช่ในนํ้าเลี้ยงเซลล์ ที่ควบคุมความเย็นให้อยู่ใน ช่วง 0-4 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ไห้เซลล์ตาย
ขั้นตอนที่ 7
หนังศีรษะชิ้นใหญ่จะถูกแล่เป็นชิ้นบางๆ (Slivering)
ขั้นตอนที่ 8
จากนั้นชิ้นหนังศีรษะบางก็จะถูกนำไปแบ่งเป็นแต่ละเซลล์รากผม (Follicular Unit) ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 10 เท่า แต่ละเซลล์รากผม (Follicular Unit) จะมี เส้นผม 1-4 เส้น
ขั้นตอนที่ 9
จากนั้นทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ 2 จุดรอบเส้นประสาทเหนือหัวคิ้วทั้งสองข้างก่อนที่จะ เจาะรู เพื่อปลูกรากผม หลังฉีดยาชาบริเวณหน้าผากจนถึงกลางศีรษะจะชา ฉีดยาห้ามเลือดผสมในนํ้าเกลือเข้าไป เพื่อให้หนังศีรษะโป่งและพองตัวขึ้น
ขั้นตอนที่ 10
เจาะรูโดยใช้แว่นขยาย 6-8 เท่า แล้วทำการปลูกผม
– ใช้คีมปลายเล็กมาก (Fine Jewelry Forceps) 2 ตัว มือหนึ่งเปิดรูให้อ้าออกแล้วใช้ อีกมือใส่กราฟเข้าไป ช่วยลดการบอบชํ้าของเซลล์รากผมได้เป็นอย่างดี
– ใช้เข็มเจาะแล้วปลูกผมลงไป เพื่อเพิ่มความหนาแน่นในจุดที่ต้องการ
– ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เข็มปลูกผม” (Implanter) ซึ่งช่วยลดการบาดเจ็บของเซลล์รากผม
ขั้นตอนที่ 11
หลังจากทำการปลูกผมเสร็จแล้ว จะทำการตรวจความเรียบร้อยของกราฟที่ปลูกอีกครั้ง แล้วจึงสวมผ้าคาดศีรษะ เพื่อป้องกันการบวมของใบหน้า
การปลูกผมด้วยวิธีการเจาะหรือ Follicular unit extraction [FUE]
เมื่อการผ่าตัดตามปกติมีข้อเสียคือแผลเป็นยาว เทคนิกการเจาะเอารากผมเพื่อไปใช้ปลูกจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น วิธีการคือใช้หัวเจาะขนาดเล็กที่มีความคมเจาะเอารากผมขึ้นมาโดยต้องใช้เทคนิกที่ดีและความละเอียดประณีตอย่างมาก เนื่องจากการเจาะลงไปถ้าไม่ชำนาญจะทำให้หัวเจาะไปตัดรากผมขาดได้ การผ่าตัดแบบเจาะจึงต้องใช้ฝีมือและเวลาในการผ่าตัดนานกว่า รากผมที่ได้จะมีความชอกช้ำมากกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐานเมื่อนำไปปลูกโอกาสงอกขึ้นใหม่จึงน้อยกว่าประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน บวกกับค่าใช้จ่ายก็มากกว่าเพราะทำได้ยาก ใช้เวลานาน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาแขนกลหรือโรบ็อต*เพื่อช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้นแต่ทักษะของผู้ใช้เครื่องมือก็ยังมีความสำคัญอยู่มาก อย่างไรก็ตามการใช้วิธีเจาะนี้มีข้อดีในเรื่องของแผลเป็นที่บริเวณท้ายทอยเพราะแผลที่เหลืออยู่จะเป็นแผลเล็กๆ ขนาดเท่ารูขุมขน แม้จะตัดผมสั้นมากก็ยังไม่เห็นแผล และการพักฟื้นหลังผ่าตัด การปวดแผลน้อยกว่าวิธีมาตรฐานมาก
การปลูกผมช่วยไม่ให้ศรีษะล้าน ได้จริงหรือ ?
ศัลยกรรมปลูกผมช่วยได้จริง แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะทำวิธีนี้ได้ ผู้ที่จะสามารถทำการปลูกผมด้วยศัลยกรรมได้ต้องมีผมที่ท้ายทอยหรือเหนือกกหูเป็นเส้นผมขนาดใหญ่และปริมาณความหนาแน่นต้องมากพอ (ในคนปกติจะมีรากผมประมาณ 80-100 ราก ต่อหนึ่งตารางเซ็นติเมตร และการทำศัลยกรรมปลูกผมสามารถปลูกได้ 30-50 ราก ต่อหนึ่งตารางเซ็นติเมตร) การปลูกผมวิธีนี้ใช้เส้นผมจริงของเจ้าตัวเท่านั้นไม่มีการใช้เส้นผมสังเคราะห์ หรือเส้นผมของผู้อื่นเหมือนการปลูกถ่ายอวัยวะชนิดอื่น หลังจากทำศัลยกรรมปลูกผมแล้ว เส้นผมสามารถขึ้นได้จริงและยาวได้ปกติอยู่กับเจ้าของไปตลอดเป็นการปลูกผมถาวรจริงๆ และคนที่มีผมร่วงบางจากกรรมพันธุ์ รากผมบริเวณท้ายทอยและเหนือกกหูจะไม่ถูกทำลายด้วยอิทธิพลของฮอร์โมน DHT เพราะฉะนั้นเวลาย้ายเซลล์รากผมมาปลูกตำแหน่งที่ผมบางแล้วเส้นผมที่ขึ้นใหม่จะไม่กลับมาร่วงหรือมีเส้นเล็กลงอีก
ผ่าตัดปลูกผม อันตรายหรือไม่ ?
ส่วนใหญ่การทำศัลยกรรมปลูกผมจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ในการทำขึ้นอยู่กับว่าปริมาณเซลล์รากผมที่จะย้ายมาปลูกมีมากน้อยเพียงไร ทั่วๆไปการย้ายเซลล์รากผม 1000-2000 กร๊าฟท์ จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง (หนึ่งกร๊าฟท์=หนึ่งรากผมหรือหนึ่งกอผมซึ่งจะมีเส้นผม 1-4 เส้น หรือเฉลี่ยน 2 เส้น/หนึ่งกอผม) การผ่าตัดไม่จัดว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ เทียบเท่ากับการไปถอนฟัน ไม่มีการดมยาสลบใช้เพียงการฉีดยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ระหว่างทำการปลูกผมคนไข้จะรู้สึกตัวตลอดเวลาแต่ไม่เจ็บเพราะมีฤทธิ์ยาชาอยู่ บางที่อาจจะให้กินยากล่อมประสาทแบบอ่อนๆเพื่อไม่ให้เกิดความกลัวหรือระหว่างการทำจะมีการเปิดเพลงให้ฟังจะได้รู้สึกเคลิ้มและผ่อนคลาย ในต่างประเทศบางแห่งระหว่างการทำมีคนมาบรรเลงเปียโนให้ฟังถึงในห้องผ่าตัดเลยทีเดียว เรื่องความปลอดภัยนั้นจัดว่าปลอดภัยสูงมาก แต่เรื่องความสวยงามของการทำและอัตราการงอกของเส้นผมที่ทำการปลูกใหม่นั้นขึ้นอยู่กับ
– ทีมผู้ช่วยแพทย์ ทั้งผู้ส่องกล้องหั่นเตรียมรากผม และผู้ที่นำรากผมมาปักปลูกภายใต้การกำกับดูแลของศัลยแพทย์อย่างใกล้ชิด
– เครื่องมือที่ใช้ในการปลูกผม ต้องดีมากโดยเฉพาะกล้องขยายกำลังสูงที่ใช้ในการเตรียมกร๊าฟท์
ปลูกผมมีอาการแทรกซ้อนไหม ?
การปลูกผม จัดเป็นการผ่าตัดเล็กชนิดหนึ่ง และใช้เพียงยาชาเฉพาะที่เท่านั้น จึงถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัยเช่นเดียวกับศัลยกรรมเสริมความงามชนิดอื่นๆ เช่น การทำตา 2 ชั้น การเสริมจมูก ฯลฯ นอกจากนี้บริเวณหนังศีรษะ จัดเป็นเนื้อเยื่อของร่างกายที่เลือดมาเลี้ยงดีมาก การติดเชื้อจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น การหายของแผลก็ดีกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ผลแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น อาจเกิดการบวมบริเวณหน้าผากหลังการ ปลูกผม หรืออาจเกิดตุ่มหนองเล็กๆ คล้ายหัวสิวได้บ้างบริเวณรูขุมขนที่ปลูก ซึ่งอาจให้ยาปฎิชีวนะเพื่อการรักษา หรืออาจมีอาการชาบริเวณหนังศีรษะหลังการปลูก ซึ่งอาการดังกล่าวก็มักจะหายไปได้เองเช่นเดียวกัน
หลังทำศัลยกรรมปลูกผม จะมีผมร่วงก่อนจริงหรือไม่ ?
ผมที่ทำการย้ายมาปลูกในตำแหน่งใหม่ จะหลุดร่วงออกมาประมาณ 10-14 วันหลังผ่าตัด แต่ไม่ต้องตกใจ หลุดออกมาเฉพาะเส้นผม ส่วนรากผมในตำแหน่งที่ปลูกใหม่ยังคงอยู่และเส้นผมยังคงค่อยๆงอกออกมา และจะงอกออกมามากขึ้นเรื่อยๆในช่วง 3 เดือน หลังผ่าตัดและจะงอกยาวออกมาเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยการประเมินว่ารากผมในตำแหน่งที่ปลูกใหม่จะงอกออกมาหรือไม่จะต้องรอดูประมาณ 6-12 เดือนจึงจะบอกได้อย่างมั่นใจว่าการทำศัลยกรรมปลูกผมประสบความสำเร็จดีหรือไม่ และการจะปลูกผมซ้ำหรือแซมเสริมครั้งที่ 2 จะต้องรออย่างน้อย 12 เดือนหลังปลูกผมครั้งแรก
แต่จะมีคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่ผมร่วงหลังผ่าตัดปลูกผมไม่ได้เกิดเฉพาะตำแหน่งที่ปลูกผมใหม่เท่านั้น ตำแหน่งแผลผ่าตัดที่ท้ายทอยก็ร่วงบางจนน่ากลัวบางคนเรียกว่า “Normal Post-operative Shock Loss” หรือการร่วงแบบรุนแรงจนน่ากลัวหลังผ่าตัดปลูกผมแต่เป็นภาวะปกติและเป็นชั่วคราว ผมใหม่จะค่อยๆกลับมาประมาณ 4 เดือนหลังผ่าตัด สาเหตุเชื่อว่ามีหลายปัจจัยส่งเสริมให้เส้นผมปกติที่อยู่ในระยะเติบโต (Growing phase or anagen stage) เข้าสู่ระยะพักตัว (Resting phase or Telogen stage) มากขึ้น เช่น ความเครียดกังวลว่าการปลูกผมจะออกมาไม่ดี, กินยาบางชนิดอยู่, ขาดวิตามินและพร่องโภชนาการ โดยเฉพาะในผู้หญิง, มีไข้สูงหลังผ่าตัด ฯลฯ อาการผมร่วงทั้งศีรษะ Shock Loss พบไม่บ่อยหลังทำศัลยกรรมปลูกผมและส่วนใหญ่กลับมาเป็นปกติได้เอง
สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนการทำศัลยกรรมปลูกผม
– การทำศัลยกรรมปลูกผม ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนเส้นผมให้มากขึ้นแต่เป็นการย้ายเซลล์ผมจากด้านหลังมาปลูกด้านหน้าแทน
– การปลูกเซลล์รากผม ไม่ใช่การทำ Stem cell
– การทำศัลยกรรมปลูกผมไม่ใช้การแก้ที่ต้นเหตุแต่ช่วยปรับภาพลักษณืของเราให้ดีขึ้น ดังนั้นควรกินยาประกอบเพื่อที่ช่วยเร่งให้ผมเติบโตไวขึ้น
– การปลูกผมนั้นจะทำแค่ 40-50% ของผมธรรมชาติ เพราะ โอกาสรอดของเซลล์เส้นผมจะสูงกว่า และหากทำการปลูกหนาแน่นเกินไป เลือดจะมาเลี้ยงเซลล์เส้นผมไม่เพียงพอ และจะทำให้เซลล์เส้นผมบางส่วนตายได้ ทั้งนี้หากคนไข้ต้องการความหนาแน่นของเส้นผมมากๆ แนะนำให้มาทำซ้ำในบริเวณเดิม (มากกว่าที่จะพยายามทำจำนวนมากในครั้งเดียว)
– การปลูกผม ช่วง 2 เดือนแรกผมที่ปลูกจะร่วง จนเหมือนก่อนผ่าตัดซึ่งเป็นปกติ จากนั้นเซลล์ผมจะทำงานตามธรรมชาติ และจะงอกใหม่จนขึ้นประมาณ 80% ในเดือนที่ 6-9 และจะขึ้นเต็มที่ ในระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน
การเตรียมตัวก่อนการทำศัลยกรรมปลูกผม
การเตรียมตัวก่อนจะทำการปลูกผมควรหยุดยาดังต่อไปนี้
– ยาทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างน้อย 3 สัปดาห์ อาทิ แอสไพริน (Aspirin), ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants), น้ำมันปลา (Fish Oil), เลซิทิน (Lecithin), กระเทียมเม็ด, วิตามิน E, วิตามิน A
– ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ Alcohol ทุกชนิด และงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
– หากมียาที่กินอยู่ประจำชนิดอื่นต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการผ่าตัด
– แจ้งแพทย์และพยาบาล หากมีโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา ยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งวิตามินอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ทุกชนิด
– งดยาหรือวิตามินบางชนิดที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น แอสไพริน เฮปพาริน วิตามินอี น้ำมันปลา โสม แปะก๊วย ฯลฯ อย่างน้อย 7 วันก่อนผ่าตัด
– งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 48 ชม. ก่อนผ่าตัด
– พักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนผ่าตัด ควรนอนอย่างน้อย 6 ชม.
– รับประทานอาหารเช้าได้ตามปกติ แต่ไม่ควรเป็นมื้อใหญ่ งดชากาแฟในตอนเช้า ให้รับประทานยาประจำเช่นยาเบาหวานความดันได้ตามปกติ
– อาบน้ำล้างหน้าสระผม ทำความสะอาดร่างกาย ด้วยแชมพูหรือสบู่ฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์ ก่อนเข้านอนและตอนเช้าของวันผ่าตัด
– สวมเสื้อผ้าที่สบาย ใส่และถอดง่าย เช่น เสื้อที่มีกระดุมติดด้านหน้าจะมีความเหมาะสมในการเปลี่ยนกลับบ้าน ไม่กระทบแผลเมื่อใส่กลับ
– ควรมาที่สถานพยาบาลก่อนเวลานัดอย่างน้อย ½ ชม. เพื่อใช้ในการเตรียมตัว
– ไม่นำเครื่องประดับหรือสิ่งมีค่าที่อาจสูญหายได้มาที่สถานพยาบาล
– ต้องมีญาติ หรือเพื่อนมาด้วย เพื่อความสะดวกในการรับกลับบ้าน
– เตรียมหมวกทรงหลวม หรือผ้าโพกศีรษะ ติดมาด้วย เพื่อสวมใส่ปกปิดแผลหลังผ่าตัดตามต้องการ
การปฏิบัติตัวหลังการทำศัลยกรรมปลูกผม
- ภายใน 24 ชม.แรกหลังผ่าตัด ห้ามแกะหรือเกาหรือถูที่บริเวณผมปลูก ห้ามสัมผัสแผล ทำแผล ซับเลือด สระผม หรือ ให้บริเวณที่ปลูกผมถูกน้ำ เพราะกราฟท์มีโอกาสหลุดได้
- หลังผ่าตัดให้รัดผ้ารัดศีรษะ(Head Band) ไว้จนครบ 24 ชม.จึงจะสามารถถอดออกได้
- หลังผ่าตัดให้สระผมด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง (ไม่ต้องใช้น้ำอุ่น หรือน้ำร้อน) โดยใช้เป็นน้ำฝักบัวชโลมเบาๆ ใช้แชมพูอ่อนถูให้เกิดฟองแล้วประทับเบาๆที่บริเวณผมปลูกโดยไม่ต้องขยี้ ปล่อยให้ฟองละลายคราบสกปรกประมาณ 5 นาที หลังจากนั้น ชโลมน้ำเพื่อล้างฟองออก ส่วนแผลด้านหลังที่ท้ายทอยให้ล้างด้วยวิธีเดียวกัน แต่สามารถถูเบาๆ ได้ ทำอย่างนี้จนครบหนึ่งสัปดาห์ ควรสระผมทุกวัน อย่างน้อยวันล่ะ 1 ครั้ง
- หลังผ่าตัดบริเวณแผลจะมีสะเก็ด และคราบน้ำเหลืองได้ หากสะเก็ดและคราบน้ำเหลืองแข็งมากให้ใช้น้ำมันบริสุทธิ์เช่นน้ำมันมะกอกชโลมก่อนสระผม ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วสะเก็ดจะยุ่ยหลุดง่ายขึ้นเมื่อล้างออก ทำได้ทั้งแผลที่ปลูกและแผลที่ตัดท้ายทอย
- หลังผ่าตัดใหม่ๆ อาจมีอาการเจ็บระบมที่ท้ายทอย(ในกรณีที่มีการผ่าตัด) สามารถนอนราบได้ตามปกติ ให้ใช้หมอนรูปตัว U (แบบที่ใช้บนเครื่องบิน) หนุนประคองตรงต้นคอเพื่อป้องกันการกดทับแผลที่ท้ายทอย หรือใช้ผ้าเช็ดตัวมาม้วนแล้ววางหนุนต้นคอแทนได้ ไม่แนะนำให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำ เพราะจะทำให้หน้าบวมในวันต่อๆมา
- ควรหลีกเลี่ยงการให้ศีรษะถูกแสงแดดโดยตรงเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
- ระวังในการขึ้น หรือ ลงรถยนต์ในขณะที่ศีรษะของท่านยังชาอยู่ การกระแทกของศีรษะอาจจะทำให้เส้นผมที่ปลูกอยู่หลุดได้
- ไม่ควรขับรถยนต์กลับบ้านเอง หลังการผ่าตัดปลูกผม เนื่องจากฤทธิ์ของยานอนหลับอาจจะยังไม่หมด
- ในกรณีที่มีอาการบวมบริเวณศีรษะ หรือหนังตาหลังผ่าตัด อาจใช้น้ำแข็งประคบบริเวณหน้าผากได้ แต่ห้ามประคบน้ำแข็งบริเวณศีรษะที่ได้รับการปลูกผมเด็ดขาด
- ในกรณีที่มีสะเก็ดเลือดบริเวณผ่าตัดปลูกผม ห้ามแกะเด็ดขาด สะเก็ดเลือดเหล่านี้จะหลุดเองโดยธรรมชาติ ภายใน 2 สัปดาห์
- ห้ามดื่มสุราหรือสารมึนเมาภายใน 48 ชม.หลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวด ยาปฎิชีวนะ และ ยานอนหลับ (สำหรับยานอนหลับให้เพียงพอสำหรับสองคืนหลังผ่าตัด)
- สามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก เช่นออกกำลังกายหนัก ซาวน่า สตีม หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและที่ชุมชนแออัด และห้ามว่ายน้ำเป็นเวลา 1 เดือน สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
- สำหรับผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เริ่มใช้ได้ตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์หลังผ่าตัดแต่หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงที่แผล โดยพยายามให้ใช้เฉพาะปลายผมจนกว่าแผลจะหายแดง (เฉลี่ย 2 สัปดาห์)
- หลีกเลี่ยงการย้อมผมหรือโกรกหรือดัดเป็นเวลา 1 เดือน
- สามารถตัดผมได้ที่ร้านได้ตามปกติตั้งแต่ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป
- หลังการผ่าตัดปลูกผม 1 วัน คนไข้จะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ติดตามผลการผ่าตัด
- หลังการผ่าตัดปลูกผม 7 วัน คนไข้จะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการตัดไหมบริเวณท้ายทอย(ในกรณีที่ทำศัลยกรรมปลูกผมแบบ FUT)
- หลังการผ่าตัดปลูกผม 90 วัน คนไข้จะต้องเข้ามาพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบเส้นผมที่เกิดจากการผ่าตัด